วันที่ 19 พฤษภาคม 2567 นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา หนึ่งใน สว. ที่ร่วมลงชื่อในคำร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสถานภาพการเป็นรัฐมนตรีของ นายพิชิต ชื่นบาน เพราะอาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีเอาไว้อย่างเคร่งครัด
โดย นายประพันธ์ กล่าวถึงกรณีกระแสโต้แย้งจาก สว.บางส่วนในการร่วมลงชื่อ จนอาจทำให้คำร้องไม่สมบูรณ์ ว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ระบุเอาไว้ชัด ให้ใช้เสียง สว. 1 ใน 10 ก็คือไม่น้อยกว่า 25 คน ฉะนั้น จึงเป็นไปตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด ซึ่งสมาชิกเสนอผ่านประธานวุฒิสภา จากนั้นประธานก็ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีอะไรเป็นปัญหา
ส่วนรัฐมนตรีที่ถูกยื่นคำร้อง ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วยหรือไม่นั้น อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล ซึ่งศาลก็มีคำวินิจฉัยในแนวทางนี้มาหลายครั้งแล้ว คือ ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เอาไว้ก่อน เพื่อรอคำวินิจฉัย โดยกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน กรณีมีข้อสงสัยว่าดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี หรือ 2 วาระแล้วหรือยัง
นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะหากนายพิชิต ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ก็ต้องรับผิดชอบ อาจถึงขั้นถูกวินิจฉัยว่า จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเปลี่ยนนายกฯใหม่ ต้องซาวเสียงกันใหม่
เรื่องนี้ถือว่ามีมูล เพราะหลายฝ่ายท้วงติงมาตั้งแต่ต้นแล้ว และนายกฯ ก็รับทราบ ตัวนายกฯเอง จึงถูกยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า รู้อยู่แล้วว่านายพิชิต มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ และในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีครั้งแรก ก็ไม่ได้แต่งตั้งด้วยปัญหาเรื่องคุณสมบัติ แต่มาครั้งที่ 2 กลับแต่งตั้ง ถือเป็นการจงใจกระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ และจริยธรรมของผู้บริหาร เสนอรายชื่อคนขาดคุณสมบัติขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกลาฯ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้ว่าขาดคุณสมบัติ นายประพันธ์ ระบุ
เมื่อถามว่า หากนายพิชิต และนายกฯลาออกก่อนศาลมีคำวินิจฉัย ทุกอย่างจะจบหรือไม่ สว.ประพันธ์ กล่าวว่า หากลาออกทั้ง 2 คน ศาลอาจสั่งจำหน่ายคดี แต่ถ้านายพิชิต ลาออกคนเดียว คดียังไม่จบ เพราะยังมีประเด็นวินิจฉัยเรื่องนายกฯอยู่ เพราะถือว่ากระทำผิดสำเร็จไปแล้ว