โดยได้อัญเชิญ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 จากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี กรมศิลปากร ไปยังอู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ โดยมีระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้เส้นทางจากปากคลองบางกอกน้อย ผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สถานีรถไฟบางกอกน้อยเดิม โรงพยาบาลศิริราช ท่าช้าง วัดระฆังโฆษิตาราม ก่อนเข้าจอดที่อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ
สำหรับ นารายณ์ทรงสุบรรณ มีความหมายเดียวกันกับ พระวิษณุทรงครุฑ เนื่องจาก นารายณะ หรือที่ไทยเรียกว่า นารายณ์ เป็นพระนามหนึ่งของพระวิษณุ ส่วนสุบรรณ ก็เป็นชื่อเรียกครุฑ หรื พญาครุฑ พาหนะของพระวิษณุ
ส่วนที่เติมสร้อยว่า รัชกาลที่ 9 นั้นก็เพื่อสื่อให้ทราบว่าเรือพระที่นั่งลำนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เนื่องจากชื่อเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณมีมาแล้วตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 (พุทธศักราช 2367 – 2394)
หัวเรือพระที่นั่งจำหลักรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู ตามคัมภีร์ปุราณะจากอินเดียที่มีต่อประเพณีนิยมและศิลปกรรมไทย พระวิษณุเป็นหนึ่งในเทพเจ้าสำคัญที่สุด 3 องค์ อีก 2 องค์ คือพระพรหม และพระศิวะ พระวิษณุเป็นเทพเจ้าแห่งการพิทักษ์รักษา ถือกำเนิดบนโลกมนุษย์ในรูปร่างต่างๆ เรียกว่า อวตาร เชื่อกันว่าทรงแบ่งภาคลงมากำเนิดเป็นพระราชาได้ในทุกสถานที่และทุกกาลเวลา
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก (ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี) เมื่อพุทธศักราช 2539 ดำเนินการโดยกองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากร โขนเรือและตัวเรือจำหลักลงรักปิดทองประดับกระจก ที่หัวเรือเบื้องใต้ครุฑเป็นช่องสำหรับปืนใหญ่
กลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาและมีแท่นประทับ เรือมีความยาว 44.30 เมตร กว้าง 3.20 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 1.10 เมตร กินน้ำลึก 40 เซนติเมตร น้ำหนัก 20 ตัน ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน และคนเห่เรือ 1 คน
อย่างไรก็ตาม บรรดานักเสี่ยงโชคต่างพากันนำเลขมงคล เกี่ยวกับเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 คือเลข 44, 30, 32, 20, 11, 10, 40, 50 เป็นแนวทางในการเสี่ยงโชคงวดที่จะถึงนี้