ประกันสังคมแจงแล้ว หลังคนสงสัย ผู้ประกันตนต้องคืนเงินเยียวยาโควิดยังไง

29 พ.ค. 2567 เวลา 11:46 น.

วันที่ 27 พฤษภาคม นางนิยดา เสนีย์มโนมัย โฆษกสำนักงานประกันสังคม ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นที่สำนักงานประกันสังคม ได้ส่งหนังสือถึงผู้ประกันตนมาตรา 40 เพื่อเรียกคืนเงินตามโครงการเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (ผู้ประกันตนมาตรา 40) ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ว่า ตามที่มีข้อมูลเผยแพร่ออกไปนั้น ข้อเท็จจริงเรื่องจำนวนผู้ประกันตนที่มีการเรียกคืนเงินเยียวยาช่วงโควิด-19 มีจำนวนประมาณ 5,000 คน

โดยส่วนมากจะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ส่วนมาตรา 33 และ 39 มีเพียงเล็กน้อย ซึ่งแต่ละคนจะมีจำนวนเงินที่ต้องคืนต่างกันออกไป โดยทางสำนักงานประกันสังคมจังหวัดได้ส่งหนังสือไปถึงผู้ประกันตนทั้งหมดแล้ว ดังนั้น หากผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับหนังสือ ก็หมายความว่าไม่ต้องติดต่อเพื่อขอคืนเงินแต่อย่างใด

สิ่งที่มีความกังวลคือ ในช่วงนี้ที่มีกระแสข่าว อาจจะมีมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาส ส่งหนังสือไปถึงผู้ประกันตน โดยอ้างว่ามาจากประกันสังคม ดังนั้น ขอให้ผู้ประกันที่ได้รับหนังสือเรียกคืนเงิน ไปติดต่อกับสำนักงานประกันสังคมจังหวัดที่สะดวก เพื่อตรวจสอบข้อมูล” นางนิยดากล่าว

เมื่อถามว่าในกรณีที่ผู้ประกันตนต้องการจะผ่อนชำระ มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง แล้วจะต้องคืนภายในกี่วัน นางนิยดากล่าวว่า ส่วนการผ่อนชำระว่าจะต้องผ่อนเท่าไหร่ หรือผ่อนนานแค่ไหน ขอให้ผู้ประกันตนไปติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้รายละเอียดในเรื่องนี้อยู่ แต่เราเน้นย้ำว่าการคืนเงินนั้น จะต้องไม่กระทบต่อผู้ประกันตนมากนัก

ถามต่อว่ากรณีที่ผู้ประกันตนกว่า 5,000 คน ไม่สามารถคืนเงินได้ จะมีดอกเบี้ยปรับหรือไม่ นางนิยดากล่าวว่า จริงๆ เงินในการเยียวยานั้น เป็นเงินที่รัฐบาลให้การสนับสนุนมาเพื่อเยียวยาผู้ประกันตน ซึ่งจะมีเงื่อนไขในการเยียวยาอยู่หลายข้อ ดังนั้น ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไข ก็จะต้องเงินคืนส่วนดังกล่าวมา เพราะถือว่าเงินส่วนนั้น เป็นเงิน “ไม่พึงได้รับ” อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดอกเบี้ยปรับ หรือมาตรการทางกฎหมาย ตนขอไปหารือกับฝ่ายกฎหมายเพื่อความชัดเจนอีกครั้ง

เมื่อถามถึงข้อกังวลว่าการที่ประกันสังคมโอนเงินให้ผู้ประกันตนมาแล้ว แต่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ทางประกันสังคมควรเป็นผู้รับผิดชอบหรือไม่ นางนิยดากล่าวว่า สำหรับข้อมูลเบื้องต้นคือ ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เงินดังกล่าวถือว่าเป็นเงินไม่พึงได้รับ ซึ่งหมายถึงกรณีที่มีการจ่ายเงินไปแล้ว ได้รับเงินไปแล้ว แต่มีการตรวจสอบย้อนหลังว่าเป็นเงินไม่พึงได้รับ ก็จะต้องมีการคืนกลับมา อย่างไรก็ตาม ตนขอนำประเด็นนี้เข้าไปหารือร่วมกับฝ่ายกฎหมาย เพื่อความชัดเจนอีกครั้ง