วันที่ 22 พ.ย. 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่ กก.4 บก.ปคบ.
และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมปฏิบัติการเข้าตรวจค้นทลายโรงงานลูกชิ้นเถื่อนย่านปทุมธานี ตรวจค้น 2 จุด ยึดของกลางกว่า 31 รายการ มูลค่ากว่า 210,000 บาท
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้จับกุมโรงงานลูกชิ้นเถื่อนย่านปทุมธานี ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีการส่งลูกชิ้นขายทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลกว่า 10 แห่ง และได้ประชาสัมพันธ์จนเป็นกระแส “ลูกชิ้นสกปรก” ในสื่อออนไลน์แล้วนั้น
ต่อมาได้รับเรื่องร้องเรียนจากสื่อมวลชน สมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม ให้ตรวจสอบการผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นเถื่อนในพื้นที่ จ.ปทุมธานี เนื่องจากสมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม ได้จัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ โดยร่วมเปิดซุ้มแจกเมนูลูกชิ้นให้เด็กๆ รับประทาน ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่มีการจัดงาน ซึ่งได้รับความสนใจจากเด็กและประชาชนจำนวนมาก
แต่ปรากฎว่ามีผู้ปกครองเข้ามาสอบถามทีมงาน ผู้สื่อข่าวถึงที่มาของแหล่งลูกชิ้น กลัวจะเป็นลูกชิ้นสกปรกที่ถูกจับกุมและเป็นข่าวย่านปทุมธานี เพื่อความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงสืบสวนหาข่าว พบว่าในพื้นที่ จ.ปทุมธานี มีโรงงานลักลอบผลิตลูกชิ้นเถื่อนอีก 2 แห่ง ย่าน จ.ปทุมธานี โดยลักลอบผลิตลูกชิ้นจำนวนมากในสถานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ แพ็คบรรจุส่งขายตามตลาดในพื้นที่ จ.ปทุมธานี, กรุงเทพฯ และปริมณฑลหลายแห่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการลงพื้นที่สืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิตลูกชิ้นดังกล่าว
ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2567 เจ้าหน้าที่ได้ทำการขอหมายค้นใน ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.บ้านพักอาศัยหลังหนึ่ง ที่ดัดแปลงเป็นโรงงานผลิตลูกชิ้น ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี พบนายสุนทร แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการผลิตภัณฑ์ และรับว่าทำมาแล้วเป็นเวลา 1 เดือน ตรวจยึด 1.ลูกชิ้นบรรจุถุงไม่มียี่ห้อ และลูกชิ้นยี่ห้อต่างๆ รวม 7 ยี่ห้อ จำนวนกว่า 2,000 ถุง ได้แก่ ลูกชิ้นหมูตราตี๋ใหญ่ฯ, ลูกชิ้นหมูเมืองทอง ตราโกดี KODEE, ลูกชิ้นหมูเมืองทองตราที.เค, ลูกชิ้นหมูตราตี๋เล็ก, ลูกชิ้นเนื้อตราตี๋ใหญ่, ลูกชิ้นเนื้อ ตรา เฮง, ลูกชิ้นเนื้อตราเมืองเอก, 2.ถุงบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ลูกชิ้น จำนวน 1,800 ใบ, 3. เนื้อไก่ 10 กิโลกรัม จำนวน 20 ถุง, 4. มันหมู 3 กิโลกรัม จำนวน 50 ถุง, 5. เครื่องบด จำนวน 1 เครื่อง, 6. เครื่องตีผสม จำนวน 1 เครื่อง, 7. เครื่องปั้นลูกชิ้น จำนวน 2 เครื่อง, 8. หม้อต้มลูกชิ้น จำนวน 2 ใบ และ 9. อุปกรณ์ในการผลิตลูกชิ้นพร้อมส่วนผสมต่างๆ ที่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รวมกว่า 22 รายการ
2.บ้านพักอาศัยหลังหนึ่ง ที่ดัดแปลงเป็นโรงงานผลิตลูกชิ้น ในพื้นที่ หมู่ 4 ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี พบนางสาวเพชรนภา แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการผลิตภัณฑ์ และรับว่าทำมาแล้วเป็นเวลา 5-6 เดือน ตรวจยึด 1.ลูกชิ้นบรรจุถุงไม่มียี่ห้อ และลูกชิ้นยี่ห้อต่างๆ รวม 2 ยี่ห้อ จำนวนกว่า 400 ถุง ได้แก่ ลูกชิ้นหมู AR, ชาย2 ลูกชิ้นหมู, 2.ลูกชิ้นเนื้อบรรจุถุงไม่ติดฉลาก 5 กิโลกรัม จำนวน 1 ถุง, 3. ถุงบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ลูกชิ้น จำนวน 90 ใบ, 4. เครื่องบด จำนวน 1 เครื่อง, 5. เครื่องผสม จำนวน 1 เครื่อง, 6. เครื่องปั่นลูกชิ้น จำนวน 2 เครื่อง, 7. เครื่องผสม จำนวน 1 เครื่องและ 8. อุปกรณ์ในการผลิตลูกชิ้นพร้อมส่วนผสมต่างๆ ที่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รวมกว่า 9 รายการ
รวมตรวจค้น 2 จุด ตรวจยึดลูกชิ้นยี่ห้อต่างๆ กว่า 2,400 ถุง, เครื่องจักร, บรรจุภัณฑ์ และส่วนผสมต่างๆที่ใช้ในการผลิตลูกชิ้น รวมกว่า 31 รายการ โดยในครั้งนี้ตรวจพบลูกชิ้นไม่มียี่ห้อและมียี่ห้อรวม 9 ยี่ห้อ ดังนี้ 1.ลูกชิ้นหมูตราตี๋ใหญ่ฯ 2.ลูกชิ้นหมูเมืองทอง ตราโกดี KODEE 3.ลูกชิ้นหมูเมืองทองตราที.เค 4.ลูกชิ้นหมูตราตี๋เล็ก 5.ลูกชิ้นเนื้อตราตี๋ใหญ่ 6.ลูกชิ้นเนื้อ ตรา เฮง 7.ลูกชิ้นเนื้อตราเมืองเอก 8.ลูกชิ้นหมูAR 9. ชาย2 ลูกชิ้นหมู
ในการตรวจค้นครั้งนี้พบว่าโรงงานดังกล่าวใช้แรงงานมนุษย์ในการผลิต ตวง และผสมส่วนผสมต่างๆ ซึ่ง นายสุนทร และนางสาวเพชรนภา (สงวนนามสกุลจริง) รับสารภาพว่า ได้ทำการผลิตลูกชิ้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากจาก อย.และ สสจ.ปทุมธานี แต่อย่างใด
โดยลูกชิ้นหมูยี่ห้อดังกล่าวไม่แสดงเลขสารบบอาหาร (ไม่ผ่าน อย.) ซึ่งเนื้อหมูและเนื้อไก่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบซื้อมาจากตลาด แล้วนำมาผลิตเป็นลูกชิ้นที่ไม่ได้มาตรฐานส่งขายให้ลูกค้าตามตลาดสดในพื้นที่ปทุมธานี, กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ตลาดรังสิต ตลาดคลองเตย ตลาดไทย เป็นต้น
จากนั้นจะมีผู้ค้ารายย่อยมารับสินค้าไปกระจายต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งทั้ง 2 จุดมีกำลังการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นวันละประมาณ 500 กิโลกรัม เฉลี่ยเดือนละ 15,000 กิโลกรัม
ทั้งนี้ ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ หาสารบอแรกซ์ ชนิดและปริมาณวัตถุกันเสีย และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน“ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นผลมาจากการจับกุมโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อนย่านปทุมธานี และประชาสัมพันธ์ผลการจับกุมให้ประชาชนรับทราบจนนำมาสู่การแจ้งเบาะแสให้ตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภันด้านการผลิตอาหารในครั้งนี้
ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า อย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากร้านค้าทั่วไป หรือแหล่งขายทางออนไลน์ เพราะอาจเกิดอันตรายจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา