หนุ่มวัย 32 ป่วยโรค “อิวารี่” ปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้า อึ้ง สูบวันละ 4 พอต อาการน่ากลัวมาก นอน รพ. เป็นเดือน
วันนี้ (19 พ.ย.67) นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย พญ.ภาวินี วงค์ประสิทธิ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ร่วมแถลงข่าวกรณีพบผู้ป่วยปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เข้ารับการรักษาใน รพ.บุรีรัมย์
พญ.ภาวินี กล่าวขอบคุณผู้ป่วยและครอบครัวที่อนุญาตให้เผยแพร่เรื่องราวและประวัติการรักษา โดยผู้ป่วยคนนี้เป็นเพศชาย อายุ 32 ปี มา รพ. ด้วยอาการไอเป็นเลือด เหนื่อยหอบ เกิดอาการปอดอักเสบเฉียบพลันรุนแรง แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจเอกซเรย์พบว่าบริเวณปอดมีฝ้าขาว อาการทรุดตัวรวดเร็วภายใน 24-36 ชั่วโมง ซึ่งโดยปกติเจอได้ไม่บ่อยนัก แพทย์จึงตรวจหาการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย รวมถึงวัณโรค แต่ผลตรวจไม่พบเชื้อใดๆ
ในช่วงที่ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล มีภาวะการลงแดง แพทย์สงสัยว่าเป็นการลงแดงจากการขาดสารนิโคติน แต่ด้วยช่วงแรกผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจทำให้พูดไม่ได้ แพทย์จึงไม่สามารถซักประวัติโดยละเอียดได้ ต่อมาเมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น สามารถถอดท่อช่วยหายใจได้ แพทย์ได้ซักประวัติย้อนหลังพบว่าผู้ป่วยมีประวัติสูบบุหรี่ไฟฟ้า มากถึง 400 สูบต่อวัน หรือประมาณ 4 พอตต่อวัน และสูบบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับบุหรี่มวน และมีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรืออิวารี่ (Evali)
พญ.ภาวินี กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยรายนี้รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 28 วัน แพทย์ได้หักดิบให้เลิกบุหรี่ ปัจจุบันผู้ป่วยหยุดสูบบุหรี่แล้ว อาการป่วยก็ดีขึ้นสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ ทั้งนี้ในผู้ป่วยโรคอิวารี่ จะมีภาวะปอดอักเสบที่ต่างจากการติดเชื้อทั่วไป เช่น ผู้ป่วยคนนี้ ผลเอกซเรย์ปอด เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายในเวลา 10 ชั่วโมง ถ้ามาพบแพทย์หรือใส่ท่อช่วยหายใจไม่ทันเวลา ก็จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต และอาจเป็นเคสเสียชีวิตจากปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ
ภัยของบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้อยู่แค่ตัวผลิตภัณฑ์ แต่พฤติกรรมการสูบของผู้ใช้ก็มีผลทำให้เกิดปอดอักเสบได้เช่นกัน บุหรี่ไฟฟ้าเสพติดง่ายมากขึ้นจากบุหรี่ธรรมดา กรมควบคุมโรคปรับระบบการเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าใหม่ ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยกำหนดให้แพทย์ต้องซักประวัติการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในผู้ป่วยที่เข้าข่ายภาวะปอดอักเสบ และรายงานผลมาที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวัง เพื่อให้เป็นข้อมูลต่อการกำหนดทิศทางนโยบายการควบคุมบุหรี่บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย
เมื่อถามว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวนี้ถือเป็นรายแรกในไทยหรือไม่ นพ.ชยนันท์ กล่าวว่า ในไทยเคยพบการรายงานผู้ป่วยโรคอิวารี่ครั้งแรกในปี 2562 ซึ่งหลังจากนั้นระบบการเฝ้าระวังโรคมุ่งไปที่โรคโควิด-19 มากกว่า จึงทำให้เจอเคสรายงานผู้ป่วยแต่ไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ ตอนนี้กรมควบคุมโรคได้ปรับระบบการเฝ้าระวังใหม่ ทำให้ผู้ป่วยรายดังกล่าวนี้ถือเป็นรายแรกของปี 2567