ที่ประชุม ครม. วันนี้ มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงงานเสนอ โดยให้ดำเนินการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงต่อไป เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ 3 มาตรการ คือ
1. ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร
2. ตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม
3. ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 19.05 สตางค์/หน่วย แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน
ติดตามรายละเอียดที่กระทรวงพลังงาน และโฆษกรัฐบาลครับ”
ขณะที่ นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) ได้นำเสนอ และมอบหมายให้ พน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวตามอำนาจและหน้าที่ โดยให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน เป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2567 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ สรุปสาระสำคัญดังนี้
1. ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร ระยะเวลาดำเนินการ 20 เม.ย. – 31 ก.ค. 2567
2. ตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก. ระยะเวลาดำเนินการ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2567
3. ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 19.05 สตางค์/หน่วย แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ระยะเวลาดำเนินการ พ.ค. – ส.ค. 2567 (4 เดือน)
ทั้งนี้ พน. คาดว่าจะใช้งบฯ สำหรับดำเนินทั้ง 3 มาตรการ รวมทั้งสิ้น 8,300 ล้านบาท ประกอบไปด้วย
– มาตรการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 6,500 ล้านบาท
– ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลจำนวน 6,000 ล้านบาท
– ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ก๊าซ LPG จำนวน 500 ล้านบาท
– มาตรการด้านไฟฟ้า จำนวน 1,800 ล้านบาท)
โดย ในที่ประชุม ครม. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้การดำเนินการของมาตรการดังกล่าวพิจารณาใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก่อน ในส่วนที่เหลือค่อยขอรับจัดสรรจากงบฯ ปี 2567 งบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น