คณะกรรมการการศึกษา ประกาศถึงทุกโรงเรียนทั่วประเทศ พิจารณาปิดเรียนได้ทันที หากอากาศร้อนจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของนักเรียน

6 พ.ค. 2567 เวลา 08:54 น.

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากเหตุสภาพอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รวมถึงกรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ว่าบริเวณประเทศไทยตอนบนประมาณครึ่งแรกของเดือนยังคงมีสภาพอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตอนบนของภาคกลาง กับจะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ในบางช่วง มีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนในบางวัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายแก่นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา

ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต แจ้งสถานศึกษาในสังกัด ปฏิบัติตามแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันเหตุความไม่ปลอดภัยที่เกิดจากสภาพอากาศร้อนจัด เพื่อป้องกันเหตุความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดจากสภาพอากาศร้อนจัดแก่นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ดังนี้

1. งดการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง

2. จัดเตรียมจุดบริการน้ำดื่มสะอาดภายในสถานศึกษาให้มีความเพียงพอ

3. ตรวจสอบสายไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และพัดลม ให้มีความพร้อมใช้งาน

4. ในกรณีที่มีสภาพอากาศร้อนจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของนักเรียน ให้พิจารณาปิดเรียน และพิจารณาจัดการเรียนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น Online On-hand On-Air หรือ On-Demand

5. ตรวจสอบการลืมนักเรียนในรถหรือการปล่อยให้อยู่ในรถที่จอดตากแดด

6. ให้ความรู้และแนวทางปฏิบัติแก่นักเรียนในการช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อพบผู้

ป่วยโรคลมแดด (Heat Stroke) หากเกิดภาวะฉุกเฉินสามารถเรียกหน่วยบริการฉุกเฉินหมายเลข 1669

พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) รวมถึงศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. ดำเนินการทำหนังสือแจ้งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติดังกล่าว และดำเนินการแจ้งสถานศึกษาในสังกัดต่อไป

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวอาจกระทบต่อสุขภาพของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามข้อห่วงใยของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. จึงได้เน้นย้ำให้ความรู้ที่ถูกต้องในการป้องกัน และขอความร่วมมือนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน สังเกตอาการตนเองและบุคคลรอบข้าง หากมีอาการโรคลมแดด (Heat Stroke) ให้รีบแจ้งเหตุโดยทันที เพื่อที่เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจะได้ดำเนินการเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป ด้วยความห่วงใยจากกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ.