เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 สืบทราบว่า มีการซื้อขายเครื่องขุดบิทคอยน์ และรับฝากวางทำเป็นเหมืองขุดที่โรงแจ ศาลเจ้าพ่อแห่งหนึ่งใน ต.หนองสองห้อง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร จึงได้ลงพื้นที่สืบสวนหาข่าว พบว่าที่โรงเจดังกล่าวมีการใช้ไฟฟ้ามากในลักษณะผิดปกติจริง
จากการสืบสวน พบว่าผู้ที่ขายและรับฝากวางเครื่องขุดดังกล่าว ชื่อ นายสมหวัง (ขอสงวนนามสกุล) จึงได้ทำการสืบสวนต่อไปพบว่า นอกจากที่โรงเจ ศาลเจ้าพ่อดังกล่าวแล้ว ยังมีการไปทำเหมืองลักษณะเป็นโกดัง 2 อาคาร อยู่ที่บริเวณเขาแก่นจันทร์ อ.เมือง จ.ราชบุรี ด้วย จากการตรวจสอบพบว่า มีการใช้ไฟฟ้าอย่างผิดปกติเช่นกัน จึงได้ยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาล ทั้ง 2 จุด คือ โรงเจ และ โกดังต้องสงสัยเขาแก่นจันทร์ ศาลอนุมัติหมายค้น
กระทั่งวันที่ 26 เม.ย. 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 จึงได้นำกำลังปูพรมเข้าตรวจค้นพร้อมกันทั้งสองจุด โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เข้าทำการตรวจสอบ จากการตรวจค้นพบว่า โรงเจ ศาลเจ้าแห่งหนึ่ง ต.หนองสองห้อง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร พบเหมืองบิทคอยน์ ทำเป็นอาคารทึบ อยู่บริเวณโรงจอดรถศาลเจ้าดังกล่าว มี นายสมบัติ (ขอสงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นผู้ควบคุมดูแลเหมืองดังกล่าว
จากการตรวจค้นพบ เครื่องขุดบิทคอยน์ ประกอบการในลักษณะเป็นเหมืองขุด จำนวน 187 เครื่อง และจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าพบว่า มีการดัดแปลงบริเวณมิเตอร์ไฟฟ้าทำให้กระแสไฟฟ้าผิดปกติจริง จึงได้ตรวจยึดเครื่องขุดดังกล่าวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย
ต่อมาจุดที่ 2 โกดัง บริเวณเขาแก่นจันทร์ อ.เมือง จ.ราชบุรี พบเหมืองบิทคอยน์ ทำเป็นอาคารทึบ มีนายสมหวัง (ขอสงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นผู้ควบคุมดูแลเหมืองดังกล่าว โดยมีนายนายเกียรติก้อง (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลเครื่องขุด ดูแลอาคารและเครื่องขุดดังกล่าว จากการตรวจค้นพบ เครื่องขุดบิทคอยน์ ประกอบกอบในลักษณะเป็นเหมืองขุด จำนวน 465 เครื่อง และจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าพบว่า มีการดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้า ทำให้กระแสไฟฟ้าผิดปกติจริง จึงได้ตรวจยึดเครื่องขุดดังกล่าว ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ จากการสอบถามนายสมบัติ และนายสมหวังให้การว่า ได้ประกอบการขายเครื่องขุดบิทคอยน์ โดยได้นำเข้าเครื่องมาจากประเทศจีน ผ่านพิธีศุลกากรถูกต้อง และนำมาจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไป โดยหากลูกค้าที่ซื้อเครื่องขุดแล้ว ตนเองจะรับฝากเครื่อง โดยคิดค่ารับฝากรวมค่าไฟฟ้า เป็นเงิน 6,200 บาท เท่านั้น
ซึ่งจากการสืบสวนทราบว่า ตามปกติแล้วเครื่องขุดบิทคอย์ดังกล่าว หากมีการเปิดขุดตลอดทั้งเดือนจะเสียค่าไฟฟ้าประมาณ 9,000 บาท ต่อ 1 เครื่อง จะเห็นได้ว่าในการรับฝากวางนั้น คิดราคาค่าไฟฟ้าและค่าดูแลเพียง 6,200 บาท นั้น เป็นการจูงใจให้นักขุดสนใจ และทั้งสองเหมืองดังกล่าว ได้เปิดมาแล้วประมาณ 2 เดือน
ด้านเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า ตรวจสอบเบื้องต้นพบการดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าให้ไฟฟ้าผ่านมิเตอร์ไม่เต็มตามกระแสไฟฟ้าที่ใช้จริง มีบางส่วนเป็นการต่อกระแสไฟฟ้าไม่ผ่านมิเตอร์ ซึ่งได้คำนวณค่าไฟฟ้าที่เสียหายเบื้องต้น ทั้ง 2 จุดเป็นเงิน 5 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากการตรวจยึดเครื่องขุดบิทคอยน์ รุ่นต่างๆ มีราคาประมาณ 350,000 บาท จำนวนรวม 652 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท
พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ เผยว่า ได้ทำการสืบสวนเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีพบว่า มีการหลอกลวงลงทุน ซื้อหรือเช่ากำลังขุดเหมืองสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) แบบ Cloud Mining สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ดังนี้ Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิทัล คือ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีการเข้ารหัส ใช้โค้ดคอมพิวเตอร์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่า ผ่านอินเทอร์เน็ต มีราคากลางในการซื้อขายแปรผันตามกลไกตลาด
ซึ่งในปัจจุบันได้เข้ามามีบทบาทเป็นกระแส และเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนหน้าใหม่ที่ต่างเข้ามาเก็งเพื่อกำไรในตลาด แต่ก็เป็นหนึ่งในแผนประทุษกรรมที่มิจฉาชีพฉวยโอกาสหาช่องว่างในการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงชักชวนให้เข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจการขุดเหมืองสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) หรือการเช่าหรือซื้อกำลังขุดสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ เช่น Bitcoin (BTC), Ethereum (ETH), Tether (USDT), Binance Coin (BNB), Dogecoin (DOGE) เป็นต้น