อัปเดตความคืบหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จากกรณีที่ประชาชนบางรายเกิดข้อกังวลว่า หากต้องการย้ายทะเบียนบ้าน หรืออยากเปลีย่นที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน สามารถทำได้หรือไม่ และมีโอกาสที่จะถูกตัดสิทธิ์ร่วมดิจิทัลวอลเล็ตหรือเปล่า ล่าสุด นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุ ประชาชนที่ต้องการย้ายที่อยู่ในทะเบียนบ้านสามารถทำได้ก่อนที่จะถึงวันลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่านดิจิทวอลเล็ต เพราะเมื่อมีการลงทะเบียนแล้วจะไม่สามารถย้ายได้อีก
วันที่ 25 พฤษภาคม 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดไทม์ไลน์การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยจะเริ่มลงทะเบียนทั้งร้านค้าและประชาชนภายในไตรมาสที่ 3 และโอนเงินเข้าวอลเล็ต ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อใช้จ่ายในไตรมาสที่ 4 ในปี 2567 นั้น สำหรับประชาชนที่ต้องการย้ายที่อยู่ในทะเบียนบ้าน สามารถดำเนินการได้ในช่วงก่อนจะถึงวันลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเมื่อมีการลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถย้ายได้อีก
กลุ่มคนเก่า เคยยืนยันตัวตน ไม่ต้องเริ่มต้นยืนยันตัวตนซ้ำ ให้กดรับสิทธิ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐ เท่านั้น โดยรัฐบาลจะดึงฐานข้อมูลของรัฐเดิมมาใช้ในระบบใหม่
กลุ่มคนใหม่ ไม่เคยเข้าร่วมโครงการรัฐมาก่อน ต้องลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 บาท และยืนยันตัวตน ถึงจะได้รับสิทธิ์
ส่วนการยืนยันตัวตน ผู้มีสิทธิ์ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นทางรัฐ เพื่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและยืนยันตัวตน โดยจะมีการตรวจสอบสิทธิ์ต่างๆ ทั้งบัญชีเงินฝาก, อายุ รวมถึงรายได้ เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้วให้กดยืนยันสิทธิ์เพื่อร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
หลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาท ล่าสุด
จะต้องมีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ ภายในวันที่ 30 ก.ย. 67 เงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท นับเฉพาะเงินฝากสกุลบาทรวมกันทุกบัญชี ทั้งธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (บัญชีเงินฝากประจำ, บัญชีเงินฝากออมทรัพย์, บัตรเงินฝาก, ใบรับเงินฝาก, เงินฝากกระแสรายวัน) ไม่นับรวมสลากออมทรัพย์ และสลากออมสิน เป็นต้น นับยอดบัญชีเงินฝากตั้งแต่ 31 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา
เกณฑ์รายได้วัดจากฐานข้อมูลเงินได้ของกรมสรรพากร ณ ปี 2566 สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 66 กำหนดว่าจะต้องไม่เกิน 840,000 บาท
เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท
ระหว่างประชาชนกับร้านค้า: ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า: ร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กโดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า