สามีป่วยเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูก ขณะที่ภรรยาแท้งลูก เพราะสิ่งที่มองไม่เห็น ภัยเงียบที่แฝงตัวอยู่ในบ้านหลังใหม่
หง หยงเซียง นายแพทย์เฉพาะทางด้านไต ชาวไต้หวัน ได้เล่าถึงกรณีศึกษา ของชายวัย 35 ปี ที่มารักษาด้วยอาการอ่อนเพลียและบวมที่บริเวณขาส่วนล่าง ชายผู้นี้เปิดเผยว่าเขาเพิ่งย้ายบ้านเมื่อ 1 ปีก่อน และตั้งแต่นั้นมาก็ป่วยเป็นหวัดบ่อยครั้ง ภรรยาของเขาแท้งบุตรไม่นานหลังจากที่พวกเขาย้ายเข้าบ้านใหม่
ชายผู้นี้มีภาวะไตซ้ายฝ่อลงตั้งแต่กำเนิด และมีไตเพียงข้างเดียวมาตั้งแต่เด็ก เมื่อทำการตรวจเลือดพบว่าการทำงานของตับและไตของเขาค่อนข้างแย่ลง ระหว่างการตรวจร่างกาย แพทย์พบก้อนเนื้อ ขนาด 2-3 เซนติเมตรบริเวณลำคอด้านซ้าย หลังจากทำการตรวจชิ้นเนื้อ เขาถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูกระยะที่ 2 ซึ่งอาการดีขึ้นหลังจากได้รับการฉายรังสี
ทำไมชายคนนี้จึงป่วยเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูกในวัยหนุ่ม ทั้งที่ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์?
หมอหง หยงเซียง แสดงความสงสัยอย่างมากว่าอาจเป็นผลมาจากการได้รับสารฟอร์มาลดีไฮด์ที่เกิดจากของตกแต่งภายในบ้านใหม่ สาเหตุที่ทำให้เขามีอาการคล้ายหวัดและน้ำมูกไหลนั้น คาดว่าเกิดจากระดับฟอร์มาลดีไฮด์ที่สูงเกินไป ฟอร์มาลดีไฮด์ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งประเภทที่ 1 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และเป็นหนึ่งในสารพิษที่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศภายในบ้านอย่างแพร่หลาย
นอกจากนี้ ผักใบเขียวเข้มที่อุดมด้วยวิตามินซีและเส้นใยอาหารบางชนิดยังช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกายผ่านการขับถ่าย แพทย์แนะนำว่าควรดื่มน้ำให้เพียงพอและบริโภคผักในชีวิตประจำวัน
ขณะที่ จ้าว จินเว่ย วิศวกรด้านคุณภาพอากาศภายในบ้าน ระบุว่า ปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ที่เกินมาตรฐานส่วนใหญ่มาจากเฟอร์นิเจอร์ใหม่และสีที่ใช้ตกแต่งบ้านใหม่ ฟอร์มาลดีไฮด์ถูกเติมลงไปในกระบวนการผลิตและขนส่งเพื่อป้องกันแมลงรบกวน ดังนั้นหลังการตกแต่งบ้านใหม่ ปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์มักจะสูงกว่ามาตรฐาน 2-3 เท่า และในกรณีรุนแรง อาจสูงถึง 3-4 ppm ซึ่งมากกว่าค่ามาตรฐานถึงประมาณ 50 เท่า
จ้าว จินเว่ย แนะนำว่า ขณะเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ ควรเลือกใช้วัสดุตกแต่งที่มีปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ต่ำหรือไม่มีเลย เช่น แผ่นไม้เกรด E0/E1 เพื่อลดความเสี่ยงในการปล่อยฟอร์มาลดีไฮด์ออกมา เขายังชี้ให้เห็นว่าเมื่อย้ายเข้าไปในบ้านใหม่ ควรเปิดหน้าต่างให้มากขึ้นเพื่อให้อากาศถ่ายเท ซึ่งจะช่วยให้อากาศภายนอกเข้ามาเจือจางความเข้มข้นของฟอร์มาลดีไฮด์ภายในบ้านได้